นโยบายการรับแจ้งเบาะแส (Whistleblower Policy)

บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ให้ความสำคัญกับการรับแจ้งเบาะแส เปิดโอกาสให้พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสีย สามารถแจ้งเบาะแสการปฏิบัติที่ขัดแย้งหรือสงสัยว่าเป็น การกระทำผิดกฎหมาย จรรยาบรรณ การถูกละเมิดสิทธิ หรือระบบควบคุมภายในที่บกพร่องต่อคณะกรรมการบริษัทได้ โดยกำหนดช่องทางการรับแจ้งเบาะแส ขั้นตอน การดำเนินการ และมาตรการคุ้มครองผู้ที่แจ้งเบาะแส และผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายการรับแจ้งเบาะแส ให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี

บริษัทฯ หมายถึง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ เบาะแส หมายถึง ข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลใดๆ ที่อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือขัดต่อจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัทฯ รวมถึงการกระทำที่ส่อเจตนาว่าเป็นการทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งอาจส่งผลเสียหายต่อบริษัทฯ หรือ ผู้มีส่วนได้เสียอื่นใด
ผู้บริหาร หมายถึง กรรมการบริษัท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้อำนวยการ รองกรรมการผู้อำนวยการและผู้อำนวยการหรือเทียบเท่า ขึ้นไปของบริษัทฯ
ผู้บังคับบัญชา หมายถึง พนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ มอบหมายงาน กำกับ หรือควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ รวมตลอดถึงการมีอำนาจใช้มาตรการทางวินัยลงโทษพนักงานของบริษัทฯ ได้
พนักงาน หมายถึง พนักงานตามข้อบังคับของบริษัทฯ
บุคคลภายนอก หมายถึง บุคคลและ/หรือนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานบริษัทฯ รวมถึงผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า และสังคมส่วนรวม เป็นต้น
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หมายถึง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการผู้อำนวยการโดยเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่สืบค้นข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย และกรรมการจากหน่วยงานอื่นอย่างน้อยอีก 1 ท่าน

บริษัทฯ จัดให้มีช่องทางการรับแจ้งเบาะแสดังนี้

  • จดหมายอิเล็กทรอนิกส์:
    kosol.boardap@gmail.com หรือ whistleblowing@apthai.com
  • จดหมายไปรษณีย์:
    ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน
    บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ 1 ชั้น 17
    เลขที่ 170/57 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
  • ช่องทางออนไลน์ : https://investor.apthai.com/th/good-governance/whistle-blowing-channel

  • รายละเอียดของเบาะแส ต้องเป็นความจริง มีความชัดเจน ที่จะนำสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการประพฤติที่มีความผิดร้ายแรง เช่น การทุจริต คอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งทางตรง หรือทางอ้อม การกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท การกระทำโดยเจตนาให้บริษัทฯ เสื่อมเสีย เสียชื่อเสียง หรือเสียประโยชน์ เป็นต้น
  • ข้อมูลที่ได้รับจากการแจ้งเบาะแสจะถือเป็นความลับ และไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้แจ้งเบาะแส บริษัทฯ ส่งเสริมให้ผู้แจ้งเบาะแสเปิดเผยตัวตน กับหน่วยงานที่รับเรื่อง และให้ข้อมูล หลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ โดยที่ผู้แจ้งเบาะแส จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานบริษัท หรือบุคคลภายนอก
  • กรณีที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตนให้ทราบ บริษัทฯ จะพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริง หรือหลักฐานที่มี ว่ามีความชัดเจน เพียงพอ หรือไม่ โดยบริษัทฯ จะสงวนสิทธิที่จะไม่พิจารณาข้อมูลการแจ้งเบาะแส ที่ไม่มีการระบุพยาน หลักฐาน หรือการกระทำผิดที่ชัดเจนเพียงพอที่จะสืบหาข้อเท็จจริงได้ ทั้งนี้ รวมถึงเรื้องที่ได้มีการพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ อย่างเป็นธรรมแล้ว และไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ อย่างมีสาระสำคัญ
  • ระยะเวลาในการดำเนินการขึ้นกับความสลับซับซ้อนของเรื่อง และความเพียงพอของเอกสารหลักฐานที่เราได้รับจากผู้แจ้งเบาะแส รวมถึงเอกสารหลักฐาน และคำชี้แจงของผู้ถูกร้องเรียน

บริษัทฯ จะไม่กระทำการใดที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลภายนอกที่รับจ้างทำงานให้แก่บริษัทฯ เช่น การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทำงาน สั่งพักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุที่ให้ข้อมูล ความร่วมมือ หรือความช่วยเหลือใดๆ โดยสุจริต

  • ผู้แจ้งเบาะแส ด้วยความสุจริต จะได้รับการคุ้มครอง หากพบว่ามีการแจ้งเบาะแสที่เป็นเท็จ มีความมุ่งร้ายโดยหวังให้เกิดความเสื่อมเสียต่อผู้อื่น เช่น การร้องทุกข์เรื่องส่วนตัว หรือมีเจตนาสร้างความแตกแยกภายในบริษัทฯ หรือการแจ้งเบาะแสเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น ผู้แจ้งเบาะแสจะถูกพิจารณาโทษทางวินัยตามข้อบังคับการทำงาน และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อปกป้องชื่อเสียงของบริษัทฯ และผู้ที่ถูกพาดพิง
  • บริษัทฯ จะไม่เปิดเผยชื่อ สกุล ที่อยู่ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถระบุตัวตนผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
  • ผู้รับแจ้งเบาะแส หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ สามารถเปิดเผยได้เท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้แจ้งเบาะแสร้องเรียน หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง แหล่งที่มาของข้อมูล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  • กรณีที่ผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่าตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหาย ผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถร้องขอให้บริษัทฯ กำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมก็ได้ หรือบริษัทฯ อาจกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ต้องร้องขอก็ได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเดือดร้อนเสียหายหรือความไม่ปลอดภัย
  • ผู้ใดที่กระทำการตอบโต้ต่อผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยความสุจริต จะถูกพิจารณาโทษทางวินัยตามระเบียบ ข้อบังคับที่บริษัทกำหนด
  • ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหาย จากกระบวนบวนการแจ้งเบาะแส บริษัทฯ จะบรรเทาความเสียหายด้วยความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้เสียหาย เป็นกรณีๆ ไป

  • เมื่อมีการแจ้งเบาะแสตามช่องทางต่างๆ ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ หน่วยงานตรวจสอบภายใน จะทำหน้าที่บันทึกรับเรื่อง และแจ้งต่อผู้แจ้งเบาะแส (ถ้ามี)
  • หน่วยงานตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่สืบค้นข้อมูล และพิจารณามูลเหตุของการแจ้งเบาะแสในเบื้องต้น อย่างรัดกุม เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริิงภายใน 30 - 60 วัน โดยมีหลักในการพิจารณา ดังนี้
    • ไม่มีความซับซ้อน ให้หน่วยงานตรวจสอบภายใน และหน่วยงานทรัพยากรบุคคล ดำเนินการตามระเบียบบริษัทฯ และรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบ
    • มีความซับซ้อน และ/ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นความผิดร้ายแรง บริษัทฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานทรัพยากรบุคคล หน่วยงานกฎหมาย และกรรมการจากหน่วยงานอื่นอย่างน้อยอีก 1 ท่าน
  • สรุปผลการสอบข้อเท็จจริง และแจ้งกลับไปยังผู้แจ้งเบาะแส (ถ้ามี) และรายงานสรุปผลการดำเนินการ รวมถึงบทลงโทษต่อคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณาอนุมัติ และให้หน่วยงานตรวจสอบภายในรวบรวม และสรุปการแจ้งเบาะแส และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง นำเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบทุกไตรมาส และให้คณะกรรมการตรวจสอบรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบต่อไป