คำนิยาม
- “จรรยาบรรณธุรกิจ” หมายถึง มาตรฐานการประพฤติ ปฏิบัติที่ดีที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานยึดถือปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกันการประพฤติ หรือปฏิบัติในทางที่ผิด หรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อบริษัทฯ
- “กรรมการ” หมายถึง กรรมการบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย
- “ผู้บริหาร” หมายถึง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้อำนวยการ รองกรรมการผู้อำนวยการ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนายการ ผู้อำนวยการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ของบริษัทฯ
- “พนักงาน” หมายถึง พนักงานตามข้อบังคับของบริษัทฯ
- “ผู้บังคับบัญชา” หมายถึง พนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ มอบหมายงาน กำกับ หรือควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ รวมตลอดถึงการมีอำนาจใช้มาตรการทางวินัยลงโทษพนักงานของบริษัทฯ ได้
- “บุคคลภายนอก” หมายถึง บุคคลและ/หรือนิติบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานบริษัทฯ รวมถึงผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า และสังคมส่วนรวม เป็นต้น
- “ความขัดแย้งทางผลประโยชน์” หมายถึง การดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่อาจจะมีความต้องการส่วนตัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรง หรือทางอื่นใด เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรืออาจขัดขวาง หรือเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์สูงสุดที่บริษัทฯ พึงได้รับ
- “ผู้มีส่วนได้เสีย” หมายถึง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า/เจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า พนักงาน ชุมชน/สังคม และสิ่งแวดล้อม
1. จรรยาบรรณธุรกิจ
บริษัทฯ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ประกาศหรือข้อกำหนดของหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ และข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด และรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ดังนี้
จรรยาบรรณต่อผู้ถือหุ้น
บริษัทฯ ตระหนักดีว่า มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้น บนหลักการพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต และความโปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น เป็นสำคัญ โดยมีแนวปฏิบัติดังนี้
- (1) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และให้ความสำคัญต่อข้อแนะนำต่างๆ ของผู้ถือหุ้น และนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- (2) กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และไม่กระทำการใดที่อาจมีความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ
- (3) เปิดเผยข้อมูลสารสนเทศของบริษัทฯ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส เพื่อให้ผู้ถือหุ้น และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
- (4) กำกับดูแลไม่ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้ข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ หรือข้อมูลความลับของบริษัทฯ รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่บริษัทฯ
- (5) กรรมการจะต้องบริหารงานโดยยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้มีคุณธรรม และจริยธรรมในทุกระดับ ตลอดจนสอดส่องดูแลและจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในบริษัทฯ
จรรยาบรรณต่อพนักงาน
บริษัทฯ ตระหนักดีว่า พนักงานถือเป็นทรัพยากรอันมีค่าสูงสุดและเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จ โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติดังนี้
- (1) ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ข้อบังคับการทำงาน หรือข้อบังคับอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
- (2) ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพ และให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชน และสิทธิส่วนบุคคลของพนักงาน ตลอดจนจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวของพนักงานโดยถือเป็นความลับ
- (3) กำหนดเงื่อนไขการว่าจ้างที่เป็นธรรม และให้พนักงานได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสมตามศักยภาพ
- (4) จัดให้มีโครงการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถของพนักงานให้มีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงในอาชีพ
- (5) ดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และจัดระบบการทำงานให้พนักงานมีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน รวมถึงสุขอนามัยที่ดี
- (6) รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนจัดให้มีช่องทางให้พนักงานสามารถร้องเรียนในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเรื่องที่อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และมีกระบวนการแก้ไข รวมถึงมาตรการคุ้มครองพนักงานดังกล่าว
จรรยาบรรณต่อคู่ค้า / เจ้าหนี้
บริษัทฯ มีนโยบายปฏิบัติต่อคู่ค้า/ เจ้าหนี้ทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติดังนี้
- (1) การเปิดโอกาสในการทำธุรกิจกับคู่ค้าทุกราย และกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดหา จัดซื้อ จัดจ้างที่มีความโปร่งใส เสมอภาค และเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ
- (2) หลีกเลี่ยงการจัดหา จัดซื้อ จัดจ้างที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทฯ
- (3) การปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ตกลงไว้กับคู่ค้า หรือเจ้าหนี้อย่างเคร่งครัด
- (4) หลีกเลี่ยงการรับของกำนัล การรับเชิญไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรืองานเลี้ยงรับรองจากคู่ค้าที่จัดขึ้นเป็นการเฉพาะ หรือประโยชน์อื่นใด
- (5) จ่ายชำระเงินตรงเวลา ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้
จรรยาบรรณต่อลูกค้า
บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
- (1) ให้บริการ หรือปฏิบัติกับลูกค้าอย่างสุภาพ และด้วยความเสมอภาค
- (2) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยคุณภาพ ตามมาตรฐาน โดยไม่ค้ากำไรเกินควร
- (3) ให้ข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำที่ครบถ้วน ถูกต้อง เพียงพอ ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบ้าน คอนโดมิเนียม และบริการต่างๆ
- (4) ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างเคร่งครัด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ต้องรีบแจ้งให้ลูกค้าทราบ เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหา
- (5) จัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลของลูกค้า และมีมาตรการรักษาความลับของลูกค้า รวมถึงไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ
- (6) จัดให้มีระบบหรือช่องทางเพื่อให้ลูกค้าสามารถแสดงความคิดเห็นหรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการบริการและดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไข รวมทั้งแจ้งผลให้ลูกค้าทราบภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
จรรยาบรรณต่อคู่แข่งทางการค้า
บริษัทฯ มีนโยบายในการดำเนินธุรกิจบนหลักการพื้นฐานของความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม โปร่งใส โดยกำหนดแนวปฏิบัติดังนี้
- (1) ประพฤติ ปฏิบัติตามกรอบ กติกาการแข่งขันสากลที่ยอมรับโดยทั่วไป
- (2) ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับ และล่วงละเมิดด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต ขัดต่อจริยธรรม และกฎหมาย
- (3) ไม่ทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางลบ หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
จรรยาบรรณต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ตระหนักดีว่ามีหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการพัฒนาสังคม โดยรวมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยกำหนดแนวปฏิบัติดังนี้
- (1) ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
- (2) ส่งเสริม ปลูกฝังให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง
- (3) ส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม
- (4) ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานเอาใจใส่ต่อกิจกรรมที่จะเสริมสร้างคุณภาพด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
- (5) จัดให้มีมาตรการประหยัดพลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
2. จรรยาบรรณของกรรมการ
- (1) ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
- (2) บริหารงานโดยยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งส่งเสริมให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในทุกระดับ ตลอดจนสอดส่องดูแล และจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในบริษัทฯ
- (3) บริหารงานโดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และไม่แสวงหาประโยชน์จากการดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ
- (4) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ วิริยะอุตสาหะ รักษาระเบียบแบบแผนต่างๆ ของบริษัทฯ เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีให้แก่พนักงานโดยทั่วไป เพื่อให้บริษัทมีความก้าวหน้า และเป็นไปอย่างถูกต้อง
- (5) มีอิสระในการตัดสินใจ และกระทำการบนพื้นฐานของความถูกต้อง
3. จรรยาบรรณของผู้บริหาร และพนักงาน
- (1) ปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเที่ยงธรรม ตลอดจนต้องรายงานเหตุการณ์ที่อาจก่อนให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียง และทรัพย์สินของบริษัทฯ โดยเร็ว
- (2) ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด มีความยุติธรรมและไม่มีอคติ
- (3) ปฏิบัติตาม นโยบาย ระเบียบวินัย ข้อบังคับต่างๆของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลให้พนักงานในบังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามเช่นกัน
- (4) ไม่ใช้เวลางานของบริษัทฯ ไปทำอย่างอื่น หรือใช้ประโยชน์ส่วนตัว
- (5) ไม่ประกอบกิจการอันมีสภาพเดียวกัน หรือเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัทฯ ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น หรือเป็นผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจครอบงำการจัดการ ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อบริษัทฯ
- (6) ไม่ประพฤติตนไปในทางที่อาจทำให้เสื่อมเสียต่อตำแหน่ง หน้าที่ และเกียรติคุณของบริษัทฯ
- (7) ไม่แจ้งหรือใช้ข้อความที่เป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรแจ้งต่อบริษัทฯ
- (8) ไม่ทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อ และกระทำการใดๆ อันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเพื่อให้งานลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
- (9) ไม่ปกปิดหรือบิดเบือนความจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นผลเสียหายต่อบริษัทฯ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
- (10) ไม่กระทำผิดกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา อันส่งผลเสียหายแก่ตนเองหรือผู้อื่น ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
- (11) ไม่เรียกรับหรือยินยอมที่จะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่ง หรือบุคคลอื่นใดที่ทำธุรกิจกับบริษัทฯ หรือการเลี้ยงรับรอง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่า เกินกว่าความเหมาะสม ยกเว้นของขวัญตามประเพณีนิยม การเลี้ยงรับรองทางธุรกิจตามปกติ หรือค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมธุรกิจอันนำมาซึ่งชื่อเสียงทางการค้า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตามธรรมเนียมนิยม แต่หากสิ่งเหล่านั้นมีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบทันที
- (12) ไม่ให้สินบน ไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านบุคคลที่สาม หรือใช้อิทธิพลอย่างไม่ถูกต้องต่อตัวแทนของรัฐ ลูกค้า หรือคู่ค้า
4. จรรยาบรรณที่ปรึกษา
- (1) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- (2) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ รวมถึงการเข้าประชุมทุกครั้งยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็น
- (3) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางโดยในการประชุม หากที่ปรึกษามีส่วนได้เสียในเรื่องพิจารณา ที่ปรึกษาท่านนั้นต้องออกจากห้องประชุมและงดการมีส่วนร่วมใดๆ ในการพิจารณาตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว
- (4) ไม่นำข้อมูลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
- (5) ไม่ใช้ความลับของบริษัทฯ ในทางที่ผิด และไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ แม้พ้นสภาพหรือสิ้นสุดการปฏิบัติงานที่องค์กรไปแล้ว
- (6) ไม่หาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการเป็นที่ปรึกษา
- (7) ไม่สร้างข้อมูลผูกมัดที่อาจขัดแย้งกับหน้าที่ของตนในภายหลัง
- (8) ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียจากการทำสัญญาของบริษัทฯ
- (9) ไม่รับสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตนและครอบครัว
- (10) รักษาข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัทฯ ไม่ให้รั่วไหลไปยังบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ หรือผู้มีส่วนได้เสีย ยกเว้นกรณีที่เป็นไปตามกฎหมาย
5. การต่อต้านการคอร์รัปชั่น
- (1) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโนบายต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งระมัดระวังในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงที่เป็นการคอร์รัปชั่น เช่น การบริจาคเงินเพื่อการกุศล การให้ การรับของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง เป็นต้น
- (2) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ไม่ละเลย หรือเพิกเฉย หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ โดยต้องแจ้งผู้บังคับบัญชา หรือตามช่องทางที่บริษัทฯ กำหนด และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง
การปฏิบัติตนต่อบริษัทฯ
1. การรักษาทรัพย์สินของบริษัทฯ
- (1) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลทรัพย์สินของบริษัทฯ มิให้เสื่อมเสีย สูญหาย และใช้ทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯ อย่างเต็มที่ และไม่นำทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่น รวมถึงการใช้ในทางที่ผิด การลักขโมย การฉ้อโกง การยักยอก และการทำลาย
- (2) ทรัพย์สินของบริษัทฯ หมายถึงทรัพย์สินทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน เช่น สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี ความรู้ทางวิชาการ เอกสารสิทธิ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตลอดจนข้อมูลที่เป็นความลับที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ได้แก่ แผนธุรกิจ ประมาณการทางการเงิน ข้อมูลด้านทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
- (3) ห้ามผู้บริหารและพนักงานเข้าถึงระบบหรือข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้มีไว้สำหรับตนโดยมิชอบ
- (4) ทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ รวมถึงเครื่องหมายการค้า ถือเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ผู้บริหารและพนักงานจะต้องดูแลรักษาไม่ให้ถูกล่วงละเมิด และไม่เปิดเผยให้กับผู้ใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากบริษัทฯ
- (5) ผู้บริหารและพนักงานจะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาเมื่อพบเห็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือการกระทำที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
- (6) ในการเข้าทำสัญญาหรือนิติกรรมใดๆ ต้องมีการตกลงให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
2. การรักษาผลประโยชน์ของบริษัทฯ
- (1) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ไม่พึงเปิดเผยข้อมูลทั้งของลูกค้าและบริษัทฯ โดย ไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าหรือผู้มีอำนาจของบริษัทฯ เว้นแต่ เป็นการเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจของบริษัทฯ ก่อนเช่นกัน
- (2) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการกำกับดูแล ควบคุม การดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงผลประโยชน์ของบริษัทฯ เป็นสำคัญ
3. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานใช้โอกาส ข้อมูล หรือการเอื้อประโยชน์จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานบริษัทฯ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือของครอบครัว หรือของบุคคลที่เป็นพวกพ้องใกล้ชิด
การประกอบธุรกิจอื่นนอกบริษัทฯ หรือการทำงานอื่นนอกเหนือจากงานของบริษัทฯ
- (1) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องไม่ประกอบธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทฯ หรือทำงานอื่นนอกเหนือจากงานของบริษัทฯ ที่ส่งผลกระทบต่องานในหน้าที่ โดยไม่กระทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดกันกับบริษัทฯ หากเกิดสถานการณ์ที่ผลประโยชน์ขัดกัน หรือเมื่อพนักงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่ผลประโยชน์ขัดกัน ให้แจ้งผู้บังคับบัญชา และสำเนาส่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายตรวจสอบภายใน เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์นั้นๆ ด้วยความยุติธรรมและโปร่งใส
- (2) กรณีที่มีความประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่ง และดำเนินกิจกรรมภายนอกบริษัทฯ ได้แก่ กรรมการบริษัท / เจ้าหน้าที่ / ลูกจ้างบริษัท / หุ้นส่วน / ที่ปรึกษา พนักงานดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะผู้บริหารของบริษัทฯ ก่อนดำเนินการใดๆ ทั้งนี้พนักงานต้องขออนุมัติผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบในการดำเนินการดังกล่าว และสำเนาส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
- (3) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานพึงละเว้นการถือหุ้นในกิจการคู่แข่งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นจำนวนที่มีสาระสำคัญอันจะทำให้ได้มาซึ่งอำนาจในการบริหาร หรือ หากทำให้พนักงานกระทำการ หรือละเว้นการกระทำการที่ควรทำตามหน้าที่ หรือมีผลกระทบกระเทือนต่องานในหน้าที่ ในกรณีที่พนักงานได้หุ้นนั้นมาก่อนการเป็นพนักงาน หรือก่อนที่บริษัทฯ จะเข้าไปทำธุรกิจนั้น หรือได้มาโดยทางมรดก พนักงานต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับทราบ และสำเนาส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
- (4) ให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนรายงานให้บริษัทฯ ทราบว่ามีกรณีที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) กับบริษัทฯ ตามที่กำหนดในข้อ (1) ถึง (3) หรือไม่ หากมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ข้างต้นกับบริษัทฯ พนักงานดังกล่าวต้องระบุรายละเอียดของกรณีนั้นๆ ให้บริษัทฯ ทราบด้วยเพื่อขออนุมัติ และ/หรือดำเนินการอื่นใด ทั้งนี้ การรายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้เป็นไปตามรูปแบบและช่องทางการสื่อสารที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลกำหนด
- (5) กรณีที่ภายหลังจากการรายงานครั้งแรกตามที่กำหนดในข้อ (4) เกิดกรณีตามที่กำหนดในข้อ (1) ถึง (3) หรือมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของกรณีที่อาจก่อให้เกิดผลประโยชน์ขัดกันหรือ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่พนักงานได้เปิดเผยไว้ครั้งแรกตามที่กำหนดในข้อ (4) ให้พนักงานรายงานให้บริษัทฯ ทราบและปฏิบัติตามข้อ (1) ถึง (3) เพื่อขออนุมัติ และ/หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
- (6) หากบริษัทฯ มีข้อสงสัยว่าพนักงานรายใดอาจเข้าข่ายตามกรณีต่างๆ ที่ระบุในข้อ (1) ถึง (3) แต่มิได้รายงานข้อเท็จจริงดังกล่าวให้บริษัทฯ ทราบ บริษัทฯ สามารถแจ้งให้พนักงานดังกล่าวมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงตรวจสอบเอกสารอื่นใดหรือสอบถามข้อมูลจากบุคคลใดๆ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบตามข้อนี้
- (7) หากบริษัทฯ ตรวจพบในภายหลังว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท (Code of Conduct) เกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์นี้ และ/หรือ มิได้รายงาน หรือมีการรายงานด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และ/หรือ ไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงกรณีต่างๆตามที่ระบุในข้อ (4) และ (5) บริษัทฯ จะพิจารณาโทษตามมาตรการลงโทษทางวินัยตามที่กำหนดในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ
ครอบครัวและญาติพี่น้องของพนักงาน
- (1) สมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด (บิดา มารดา พี่น้อง คู่สมรส บุตร) และคู่ชีวิตของพนักงานจะมีโอกาสได้รับการพิจารณาจ้างงาน หรือเป็นที่ปรึกษาบริษัทฯ หากบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติ ผลการปฏิบัติงาน ทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมและเกี่ยวข้องกับงาน
- (2) หลักการจ้างงานที่เป็นธรรมดังกล่าวข้างต้น ครอบคลุมถึงกรณีที่ความสัมพันธ์เกิดขึ้นหลังจากการเป็นพนักงานแล้ว เช่น กรณีเป็นคู่สมรส หรือคู่ชีวิตของพนักงาน ให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับทราบและสำเนาส่งมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
การรับเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทน หรือการเกี่ยวข้องทางการเงินกับผู้ดำเนินธุรกิจกับบริษัท
กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องไม่รับเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ เป็นการส่วนตัวจากลูกค้า คู่ค้า หรือบุคคลใดอันเนื่องมาจากการทำงานในนามบริษัทฯ หรือเกี่ยวข้องทางการเงิน เช่น ร่วมทุน ร่วมทำการค้ากับลูกค้า ผู้รับเหมา เป็นต้น
4. การให้ หรือรับของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่นใด
- (1) ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน รับหรือสัญญาว่าจะรับของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบ จากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ เพื่อจูงใจให้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติ รวมทั้งการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายดังกล่าว เว้นแต่เป็นไปตามโอกาส ขนบธรรมเนียม ประเพณีนิยม โดยการรับ หรือการให้นั้น ต้องพิจารณาให้แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้น เหมาะสมกับโอกาส ประเพณี และกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับต่างๆ และต้องไม่จูงใจให้การตัดสินใจโดยไม่ชอบธรรม ต้องกระทำด้วยความโปร่งใส และเปิดเผย
- (2) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนมีหน้าที่รายงานการรับของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่นใด หากการรับนั้น เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติ ที่มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 3,000 บาทต่อครั้ง ให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้ว และมีความเห็นว่า อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ หรือเป็นการจูงใจให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบธรรม สามารถปฏิเสธที่จะรับ หรือคืนของขวัญ ของกำนัลฯ นั้นได้ หรือนำส่งเป็นส่วนกลางของบริษัทฯ
- (3) การให้ของขวัญ ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่นใด และการเลี้ยงรับรองคู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ต้องมีหลักฐานการใช้จ่ายที่แสดงมูลค่า บริการ หรือการเลี้ยงรับรองนั้นเกิดขึ้นจริง เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
5. การใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ หาผลประโยชน์ และการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทฯ
- (1) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องไม่ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทฯ ที่เป็นสาระสำคัญ และยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่น แม้ว่าบริษัทฯ อาจไม่เสียประโยชน์ใดก็ตาม เช่น การซื้อที่ดิน หรือลงทุนในธุรกิจใกล้บริเวณที่บริษัทฯ จะลงทุน หรือที่เป็นไปในทางที่ส่อว่าจะหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น
- (2) ในกรณีที่เข้าข่ายเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกันภายใต้ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และประกาศตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวโยงกันตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
- (3) เพื่อประโยชน์ในการติดตามดูแลการมีส่วนได้เสียของกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทฯ หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ให้บุคคลดังกล่าวรายงานการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามข้อกำหนด และส่งสำเนาให้เลขานุการบริษัท ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เลขานุการบริษัท รายงานต่อคณะกรรมการบริษัทต่อไป
- (4) ห้ามใช้โอกาสหรือข้อมูลที่ได้จากการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานในการหาประโยชน์ส่วนตน เพื่อผู้อื่น หรือทำธุรกิจที่แข่งขันกับบริษัทฯ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
- (5) ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานใช้ข้อมูลภายในหรือให้ข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือชักชวนให้บุคคลอื่นซื้อหรือขายซึ่งหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่นของบริษัท ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือนำข้อเท็จจริงเช่นนั้นออกเปิดเผยเพื่อให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าว โดยตนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม และบุคคลดังกล่าวที่ทราบข้อมูลภายในที่มีนัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาซื้อขายหลักทรัพย์ รวมถึงคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องงดซื้อขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วงเวลาดังต่อไปนี้
- 1) ก่อนการเผยแพร่ข้อมูลภายในต่อสาธารณชน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม จนถึงวันที่รายงานงบไตรมาส 1 / ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่รายงานงบไตรมาส 2 / ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน จนถึงวันที่รายงานงบไตรมาส 3 / ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่รายงานงบงวดประจำปี)
- 2) ภายหลังจากการเผยแพร่ข้อมูลภายในแล้ว เป็นเวลา 5 วันทำการ เพื่อให้บุคคลภายนอกได้มีเวลาประเมินข้อมูลดังกล่าวเป็นเวลาพอสมควร
นอกจากนี้ ยังห้ามมิให้บุคคลดังกล่าว รวมถึงบุคลากรในส่วนงานนักลงทุนสัมพันธ์ และส่วนงานประชาสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัท เปิดเผยข้อมูลภายใน แก่บุคคลอื่น รวมทั้งผู้ถือหุ้น บุคคลภายนอกทั่วไป นักลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และสื่อมวลชน ในระหว่างช่วงเวลา 7 วันก่อนวันที่บริษัทจะเผยแพร่ข้อมูลนั้นๆต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือต่อสาธารณชน รวมถึงให้งดเว้นจากการพบปะเพื่อให้ข้อมูล จัดประชุม หรือตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในใดๆ กับบุคคลดังกล่าวทั้งสิ้นห้ามเปิดเผยข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัทฯ ต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคู่แข่ง ถึงแม้จะพ้นสภาพการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานไปแล้ว
- (6) ห้ามใช้ข้อมูลของบริษัทฯ ไปอ้างอิงต่อบุคคลภายนอก เพื่อสร้างประโยชน์ส่วนตัว
- (7) ห้ามเปิดเผยข้อมูลความลับทางธุรกิจของบริษัทฯ ต่อบุคคลภายนอก โดยเฉพาะคู่แข่ง ถึงแม้จะพ้นสภาพการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานไปแล้ว
- (8) กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานมีหน้าที่รักษาข้อมูลที่เป็นความลับขององค์กรไม่ให้รั่วไหลไปยังบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรหรือผู้มีส่วนได้เสีย ยกเว้นกรณีที่เป็นไปตามกฎหมาย
- เป็นผู้มีวินัย และประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ทั้งนี้กฎเกณฑ์ของบริษัทฯ อาจเคร่งครัดกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงปฏิบัติตามประเพณีอันดีงาม ไม่ว่าจะระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม
- ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส
- เคารพในสิทธิของพนักงานอื่น รวมทั้งผู้บริหารและผู้บังคับบัญชา
- ผู้บริหาร และผู้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพนับถือของพนักงาน และพนักงานไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการไม่เคารพนับถือผู้บังคับบัญชา
- ร่วมสร้าง และรักษาบรรยากาศแห่งความสามัคคี และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่พนักงาน พึงหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันอาจกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทฯ หรือเป็นปัญหาแก่บริษัทฯ ในภายหลังได้
- ต้องไม่แบ่งแยก เลือกปฏิบัติ คุกคาม เนื่องมาจากแหล่งกำเนิด สัญชาติ ศาสนา เชื้อชาติ เพศ อายุ หรือกระทำการใดๆ ที่คุกคามทางวาจาและ/หรือทางกายอันเนื่องมาจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ
- พนักงานทุกระดับมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจด้วยความเข้าใจและการยอมรับ โดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณธุรกิจ
- กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ โดยการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สื่อสารให้พนักงานรับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจอย่างทั่วถึง และรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างเกี่ยวกับการรักษาและปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ
- พนักงานมีหน้าที่แจ้งการปฏิบัติ หรือการกระทำใดๆ ที่เชื่อว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นไปตามจรรยาบรรณธุรกิจนี้ หรือการกระทำผิดกฎหมาย ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลระดับจัดการขึ้นไป กรณีสถานการณ์ที่ร้ายแรงให้รายงานโดยตรงไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของสายงาน จากนั้นผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของสายงานจะเป็นผู้รายงานต่อไปยังรองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และสำเนาถึงกรรมการผู้จัดการ แต่หากกรณีดังกล่าว เกี่ยวข้องกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของสายงาน ให้พนักงานรายงานตรงถึงรองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล และสำเนาถึงกรรมการผู้จัดการ
- ในกรณีมีข้อร้องเรียนพนักงานสามารถร้องเรียนอย่างเป็นความลับมาที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างเหมาะสม บริษัทฯ ห้ามมิให้มีการกลั่นแกล้งพนักงานที่มาร้องเรียนด้วยเจตนาที่ดี ในขณะเดียวกันบริษัทฯ จะปกป้องสิทธิของบุคคลที่ถูกร้องเรียนด้วย
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้พนักงานสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับดูแลกิจการ ดังนั้นในกรณีที่พนักงานมีข้อสงสัย หรือพบเห็นการกระทำที่สงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ จรรยาบรรณธุรกิจ สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนพร้อมส่งรายละเอียดหลักฐานต่างๆ ได้ที่ช่องทางการติดต่อ ดังนี้
- จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ : kosol.boardap@gmail.com หรือ hotline@apthai.com
- จดหมายไปรษณีย์ : ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์ 1 ชั้น 18 170/57 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวง คลองเตย เขต คลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
ทั้งนี้ เงื่อนไขการพิจารณาเบาะแสและข้อร้องเรียน การคุ้มครองสิทธิ รวมถึงขั้นตอนการจัดการให้ปฏิบัติตามนโยบายการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนที่ตามประกาศของบริษัทฯ
- พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณธุรกิจ ต้องได้รับโทษทางวินัยตามที่ระบุในระเบียบข้อบังคับในการทำงาน ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาลงโทษทางวินัยด้วยความเป็นธรรมตามความเหมาะสมและตามที่เห็นสมควร การลงโทษดังกล่าวรวมถึงการตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นหนังสือ การพักงาน และการเลิกจ้าง ทั้งนี้ พนักงานต้องละเว้นการฝ่าฝืน หรือการประพฤติผิดจรรยาบรรณธุรกิจโดยทันทีที่ได้รับการตักเตือนด้วยวาจา เว้นแต่กรณีที่การกระทำผิดดังกล่าวมีความผิดอย่างร้ายแรง เช่น การให้หรือการรับสินบน การทุจริตคอร์รัปชั่น การเปิดเผยข้อมูลความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ ต่อบุคคลที่สาม การปกปิดหรือไม่รายงานข้อมูลสำคัญใดๆ ต่อผู้บังคับบัญชา และการกระทำใดๆ ที่เสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ สามารถเลิกจ้างพนักงานผู้นั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
- หากความผิดตามจรรยาบรรณธุรกิจประการใด เป็นความผิดตามกฎหมายด้วย พนักงานผู้นั้น ย่อมต้องได้รับการดำเนินคดีตามกฎหมาย
- หากไม่สามารถสรุปผลการพิจารณาโทษของการกระทำผิดจรรยาบรรณธุรกิจได้ ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อพิจารณา และให้ถือคำตัดสินของประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นที่สิ้นสุด
บริษัทฯ จะจัดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงจรรยาบรรณธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้มีการทบทวนจรรยาบรรณธุรกิจเป็นประจำทุกปี