คณะกรรมการบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการต่อต้านการคอร์รัปชัน และมีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ภายใต้กรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ดังนั้น บริษัทจึงได้เข้าร่วมเป็น “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตและการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ จึงได้จัดให้มี “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน” อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชัน และเพื่อกำหนดขอบเขตดำเนินการสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัทและบริษัทในเครือ

การทุจริต (Fraud) หมายถึง การกระทำใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้สินบน การสัญญาว่าจะให้สินบน การให้คำมั่นว่าจะให้สินบน การเรียกร้อง หรือการรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานภาคเอกชน หรือผู้มีหน้าที่ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม เพื่อให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้มาหรือรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมทางธุรกิจ เว้นแต่ กรณีที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้า ให้กระทำได้

การคอร์รัปชั่น ( Corruption) หมายถึง ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เช่น เงินสด ของขวัญ หรือสินค้าราคาแพง การท่องเที่ยวและสันทนาการ เป็นต้น ที่มีการให้ หรือเสนอว่าจะให้แก่บุคคลเพื่อให้ผู้นั้นกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการตามที่ผู้จ่ายสินบนต้องการ

การให้สินบน (Bribery) หมายถึง ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เช่น เงินสด ของขวัญ หรือสินค้าราคาแพง การท่องเที่ยวและสันทนาการ เป็นต้น ที่มีการให้ หรือเสนอว่าจะให้แก่บุคคลเพื่อให้ผู้นั้นกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการตามที่ผู้จ่ายสินบนต้องการ

การบริจาคเพื่อการกุศล (Charity Contribution) หมายถึง การให้เงิน หรือทรัพย์สินให้กับบุคคล หรือนิติบุคคล โดยไม่หวังผลตอบแทน หรือก่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ

เงินสนับสนุน (Sponsorships) หมายถึง เงินที่ให้ เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมที่ส่งเสริมตราสินค้า ชื่อเสียงของบริษัทฯ โดยไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง หรือหวังผลตอบแทน หรือก่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ

ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด (Gifts) หมายถึง สิ่งใดๆ ที่มีมูลค่าทางการเงิน หรือสามารถใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการต่างๆ เช่น คูปองสมนาคุณ คูปองส่วนลดต่างๆ เป็นต้น

การเลี้ยงรับรอง/ ค่าบริการต้อนรับ (Entertainment & Hospitality) หมายถึง ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าบริการ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงรับรอง ที่พึงจ่ายเพื่อเป็นการรับรอง ต้อนรับแก่บุคคล และคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยไม่หวังผลตอบแทน หรือก่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจ

การช่วยเหลือทางการเมือง (Political Contributions) หมายถึง การช่วยเหลือทางการเงิน หรือรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้มีบทบาททางการเมือง โดยหวังว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ สิทธิพิเศษ หรือความได้เปรียบทางธุรกิจ

ค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payments) หมายถึง ค่าใช้จ่ายจำนวนเล็กน้อยที่จ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างไม่เป็นทางการ และเป็นการให้เพียงเพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการตามกระบวนการ หรือเป็นการกระตุ้นให้ดำเนินการรวดเร็วขึ้น โดยกระบวนการนั้นไม่ต้องอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น รวมทั้งเป็นสิทธิที่นิติบุคคลพึงจะได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว เช่น การขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรอง และการได้รับการบริการสาธารณะ เป็นต้น

การขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) หมายถึง การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ของบริษัทไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม สถานการณ์ หรือการกระทำที่กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของบริษัท ที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ หรือการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่บุคคลนั้นรับผิดชอบอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก (Nepotism) และการเอื้อประโยชน์ให้ญาติมิตร (Cronyism) เช่น การทำสัญญาจ้างเหมาเฉพาะพวกพ้อง หรือกลุ่มที่ให้การสนับสนุนตน ตลอดจนการว่าจ้างอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อผลประโยชน์จากข้อมูล อิทธิพล หรือสายสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่รัฐคนดังกล่าว (Revolving Door)

การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door) หมายถึง การที่มีบุคคลจากภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน หรือ บุคคลในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ ทำให้เกิดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน ในแง่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตัวบุคคลที่มีบทบาทหน้าที่ในทั้งสององค์กร โดยทำให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างไม่เป็นกลาง หรือบุคลากรในภาคเอกชนพยายามผลักดันให้นโยบายรัฐ เอื้อประโยชน์แก่องค์กรของตน

เจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ หมายถึง การที่บุคคลผู้เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ/นักการเมือง/ที่ปรึกษาของหน่วยงานรัฐ และได้เข้ามาทำงานให้กับบริษัทเอกชน และอาจอาศัยความสัมพันธ์หรือข้อมูลภายในไปเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนหรือก่อให้เกิดภาวะความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรกำกับดูแลธุรกิจกับบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยผลของการกระทำนั้นมุ่งหวังให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม หรือ การกำหนดนโยบายเอื้อประโยชน์เอกชนที่อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นทำงานให้

ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้า หมายถึง เทศกาลหรือวันสำคัญของแต่ละท้องถิ่นซึ่งอาจมีการให้ของขวัญ และให้หมายความรวมถึงโอกาสในการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ความช่วยเหลือตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคม

บริษัท หมายถึง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

บริษัทในเครือ หมายถึง บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วมของ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

กรรมการ หมายถึง กรรมการบริษัท

ผู้บริหาร หมายถึง ผู้บริหารของบริษัท ตั้งแต่ระดัลผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการขึ้นไป

พนักงาน หมายถึง พนักงานประจำ พนักงานรายวัน พนักงานตามสัญญาจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างจากบริษัทฯ

กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทในเครือ ต้องไม่เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการทุจริต คอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก ไม่ว่าจะด้วยการเสนอให้ (Offering) การให้คำมั่นสัญญา (Promising) การเรียกร้อง (Soliciting) การร้องขอ (Demanding) การให้หรือรับสินบน (Giving Accepting Bribes) หรือมีพฤติกรรมใดที่ส่อไปในทางทุจริตหรือคอร์รัปชัน

  • คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลให้บริษัทฯ มีระบบที่สนันสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทุกคนได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่สอบทานระบบ และรายงานทางการเงินและบัญชี ระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน ระบบการบริหารความเสี่ยง ให้มั่นใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้คำปรึกษา และติดตามให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชัน
  • คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและบริหารความเสี่ยง มีหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับดูแลให้มีนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมถึงมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร และพิจารณาผลประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับคอร์รัปชัน รวมถึงแผนการบริหารความเสี่ยงคอร์รัปชันเพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  • ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบในการนำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันไปปฏิบัติ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน และสื่อสารนโยบายให้พนักงานทุกคน รวมถึงทบทวนระบบงานและมาตรการต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
  • พนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งต่างๆ ของบริษัทที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมทั้งจริยธรรมและจรรยาบรรณของพนักงาน รายงานเหตุการณ์ที่น่าสงสัย หรือ พฤติกรรมที่อาจเป็นการคอร์รัปชัน ของคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหารและพนักงาน ตลอดจนบุคคคภายนอก เช่น คู่ค้า ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ ตามกระบวนการที่บริษัทกำหนด

  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ มีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน โดยไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการคอร์รัปชันทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ไม่ละเลย หรือเพิกเฉย หากพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ โดยต้องแจ้งผู้บังคับบัญชา หรือตามช่องทางที่บริษัทฯ กำหนด และให้ความร่วมมือในกาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงเอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้อง
  • บริษัทฯ จัดให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน และระเบียบปฏิบัติที่สำคัญ เพื่อให้พนักงานยึดถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังต่อไปนี้
    1. บริษัทฯ มีขั้นตอน และระเบียบการเบิกจ่ายเงินที่รัดกุม โดยกำหนดวงเงินตารางอำนาจอนุมัติ ระบุวัตถุประสงค์ และผู้รับต้องมีเอกสาร หลักฐานประกอบอย่างถูกต้อง และชัดเจน
    2. บริษัทฯ มีกระบวนการปฏิบัติงานในการขายและการตลาดที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานยึดเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีการควบคุมและลดความเสี่ยงที่สำคัญ รวมทั้งมีการตรวจสอบและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ
    3. บริษัทฯ มีกระบวนการปฏิบัติงานในการบริหารงานจัดซื้อ เช่น การประมูล การจัดทำสัญญา การคัดเลือกคู่ค้าที่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงศักยภาพของคู่ค้าที่เป็นปัจจุบัน เพื่อประกอบในการตัดสินใจ อันจะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยการปฏิบัติงานต้องเป็นไปตามระเบียบจัดซื้อของบริษัทฯ และมีการตรวจสอบแก้ไขที่เหมาะสม
    4. บริษัทฯ มีกระบวนการปฏิบัติงานในการบริหารทรัพยากรบุคคล อย่างโปร่งใส และเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการคอร์รัปชัน ครอบคลุมถึงกระบวนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่ การสรรหา หรือการคัดเลือกบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม การประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน รวมถึง การไม่ลดตำแหน่ง ลงโทษ หรือให้ผลทางลบต่อพนักงานที่ปฏิเสธการคอร์รัปชัน แม้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้บริษัทฯ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ
    5. บริษัทฯ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับสื่อสารนโยบาย และมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับพนักงาน เพื่อให้กิจกรรมทางธุรกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงดูแลติดตามการนำมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันไปปฏิบัติ
    6. บริษัทฯ ส่งเสริมให้พนักงานยึดถือนโยบายและมาตรการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง เป็นส่วนหนึ่งของวินัย ข้อบังคับในการปฏิบัติงาน หากผู้ใดละเลย ละเว้น และมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัย และจะพิจารณาโทษตามระเบียบบริษัท และอาจได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายในกระบวนการสรรหา หรือการคัดเลือกบุคลากร การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน การเลื่อนตำแหน่ง และการลงโทษพนักงาน นอกจากนี้บริษัทฯ มีนโยบายที่จะไม่ลดตำแหน่ง หรือลงโทษพนักงานที่แจ้งเบาะแส หรือพบเห็นการทุจริตคอร์รัปชัน
  • บริษัทฯ มีการตรวจสอบรายการที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชัน และมาตรการคอร์รัปชันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นแผนการตรวจสอบประจำปี เพื่อให้แน่ใจว่า มาตรการต่างๆ มีประสิทธิผล และสอดคล้องกับความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป
  • บริษัทฯ จัดให้มีการเก็บรักษาเอกสารและบันทึกต่างๆ ให้พร้อมต่อการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องและเหมาะสมของรายการทางการเงิน รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีรายการใดที่ไม่ได้รับการบันทึก หรือไม่สามารถอธิบายได้และไม่มีรายการที่เป็นเท็จ

  • แนวปฏิบัติเรื่องการรับ/การให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรองและการบริการต้อนรับ (Gift and Hospitality)

    บริษัทฯ ตระหนักดีว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรทางธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายการรับ/ การให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อยึดถือปฏิบัติ (ประกาศ เลขที่ AP-IARM-078/2565) โดยมีแนวปฏิบัติ โดยสรุป ดังนี้

    การรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ
    1. ห้ามกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน รับหรือเรียกรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การบริการต้อนรับ จากลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรณีใดๆ อันอาจทำให้มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความลำเอียง หรือลำบากใจ หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นรับสินบนแทนตนเอง
    2. การรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การบริการต้อนรับ ในโอกาส หรือเทศกาลอันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้า ที่พึงปฏิบัติต่อกัน และ/หรือมีความจำเป็นต้องรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคล หรือระหว่างองค์กร สามารถกระทำได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาทต่อการรับครั้งใดครั้งหนึ่ง
    3. กรณีที่ไม่อาจปฏิเสธการรับได้ หรือมีความจำเป็นต้องรับของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด ให้รายงานผู้บังคับบัญชาระดับผู้อำนวยการขึ้นไป และนำส่งต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคล – หน่วยงานธุรการ ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเพื่อบันทึกรายการรับไว้ และดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป
    การให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ
    1. ห้ามกรรมการ ผู้บริหารและพนักงาน ให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง การบริการต้อนรับ หรือมอบหมายให้ผู้อื่นกระทำการแทนเพื่อเป็นการให้สินบน หรือตอบแทน เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจโดยมิชอบ
    2. การให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับในเทศกาลอันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น หรือธรรมเนียมปฏิบัติทางการค้าที่พึงปฏิบัติต่อกัน โดยไม่สร้างความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือขัดต่อกฎหมาย สามารถกระทำได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท หรือต้องได้รับการอนุมัติตามอำนาจดำเนินการที่บริษัทกำหนด

    สำหรับนโยบาย และแนวปฏิบัติการรับ/ การให้ของขวัญ หรือผลประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง และการบริการต้อนรับ โดยละเอียด สามารถศึกษาได้เพิ่มเติมจากประกาศ เลขที่ AP-IARM-078/2565

  • แนวปฏิบัติการบริจาค และการให้ความสนับสนุน (Donations and Sponsorship)

    บริษัทฯ มีนโยบายดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เงินสนับสนุน ( Sponsorship) ที่บริษัทเป็นผู้ให้การสนับสนุนนั้นต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า หรือชื่อเสียงของบริษัท ไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง หรือเป็นสิ่งบังหน้าอันก่อให้เกิดความได้เปรียบผู้อื่น ในขณะที่หากเป็นการให้ความช่วยเหลือสนับสนุน (Donations) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะตอบแทนสังคม หรือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตอบแทนสังคม เช่น การบริจาคเพื่อการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โรงพยาบาล ฯลฯ โดยมิได้มุ่งหวังผลทางธุรกิจเป็นการตอบแทน มีแนวปฏิบัติ ดังนี้

    1. การบริจาค หรือการให้ความสนับสนุน ต้องมีความโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และไม่เป็นการกระทำใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ รวมถึงการไม่นำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการให้สินบน
    2. การบริจาค หรือการให้ความสนับสนุน ต้องขออนุมัติตามอำนาจดำเนินการที่บริษัทฯ กำหนด โดยระบุองค์กรที่รับมอบ วัตถุประสงค์ วันที่ และมูลค่าที่มอบให้ รวมทั้งแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่รับบริจาค หรือรับการสนับสนุน
    3. การบริจาค หรือการให้ความสนับสนุน ต้องมีหลักฐานการรับ หรือใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการรับเงินอื่นๆที่พิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ เช่น หนังสือขอบคุณ ใบอนุโมทนา ภาพถ่ายกิจกรรม เป็นต้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
  • แนวปฏิบัติการช่วยเหลือหรือสนับสนุนทางการเมือง (Political Contribution)

    บริษัทฯ มีนโยบายวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือสนันสนุนด้านการเงินหรือรูปแบบอื่นให้แก่พรรคการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศ

    บริษัทฯ ให้ความเคารพ ในสิทธิทางการเมืองของพนักงานในฐานะพลเมืองที่ดีตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งหรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง สนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพทางการเมือง ตามกฎหมาย ทั้งนี้ พนักงานต้องพึงตระหนัก ว่าการกระทำการใดๆ ของพนักงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ต้องไม่ส่งผลเสียหายต่อบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงไม่นำทรัพยากรของบริษัทฯ ไปใช้ดำเนินการในกิจกรรมทางการเมือง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการนำไปสู่การให้สินบน โดยกำหนดแนวปฏิบัติ ดังนี้

    1. พนักงานทุกคนสามารถใช้สิทธิทางการเมืองในนามตนเอง และควรใช้ความระมัดระวังในการหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นการกระทำในนามของบริษัทฯ
    2. หากจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ไม่ควรกระทำการใดๆ หรือละเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าบริษัทฯ ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือให้การสนับสนุนการดำเนินการทางการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง
    3. พนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง ต้องไม่แต่งกายด้วยเครื่องแบบบริษัท หรือใช้สัญลักษณ์ใดๆหรือการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าบริษัทฯ ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือให้ การสนับสนุนการดำเนินการทางการเมือง กลุ่มแนวร่วมทางการเมือง ผู้มีอำนาจทางการเมือง หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมือง
  • แนวทางปฏิบัติการจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment)

    บริษัทฯ ไม่มีนโยบายจ่ายเงินค่าอำนวยความสะดวกในรูปแบบใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะไม่ดำเนินการใดๆ และไม่ยอมรับการกระทำใดๆ เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ

  • แนวปฏิบัติการจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานรัฐ (Revolving Door)

    บริษัทฯ ไม่มีนโยบายการจ้างงานเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ ที่ยังดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐ เข้าทำงานที่อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือเป็นการตอบแทนเพื่อแลกกับการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน แต่หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องว่าจ้างอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ/พนักงานรัฐ บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

    1. บริษัทฯ กำหนดระยะเวลาเว้นวรรค (cooling-off period) เจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานรัฐ ต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว 2 ปีหรือระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดเฉพาะกาล
    2. บริษัทฯ มีกระบวนการตรวจสอบประวัติผู้สมัครว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานรัฐ หรือไม่ ซึ่งกำหนดเป็นหนึ่งเงื่อนไขในกระบวนการสรรหาบุคลากร โดยเฉพาะผู้บริหารขึ้นไป เพื่อระบุสิ่งที่อาจจะเป็นประเด็นที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
    3. กำหนดให้มีการเปิดเผยรายนาม และประวัติบุคลากรที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือพนักงานของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง กรรมการ หรือที่ปรึกษา โดยระบุเหตุผลของการแต่งตั้งบุคคลนั้นในรายงานประจำปีของบริษัท
  • แนวปฏิบัติการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์

    บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นไปตามจรรยาบรรณบริษัท ส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรมีคุณธรรม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ บริษัทฯ จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

    1. กรรมการ ผู้บริหารหรือพนักงานที่จะเข้ารับตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาในบริษัท องค์กร หรือสมาคมทางธุรกิจที่มีลักษณะธุรกิจเดียวกับบริษัทต้องแจ้งให้คณะกรรมการรับทราบก่อน
    2. กรรมการต้องแจ้งเหตุแห่งความขัดแย้งของผลประโยชน์และรายละเอียดให้คณะกรรมการโดยประธานกรรมการทราบทันที และควรงดเว้นจากการร่วมอภิปราย แสดงความเห็น หรือลงคะแนนเสียงในระเบียบวาระที่ตนเองมีความเกี่ยวข้อง หรือแสดงเจตนาอื่นใดที่จะไม่มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจในเรื่องนั้น
    3. เพื่อให้บริษัทมีการดำเนินงานที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ บริษัทควรเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ให้สาธารณชนทราบ การทำรายงานที่เกี่ยวโยงกัน รวมถึงกรรมการและผู้บริหารจะต้องรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย และควรมีการจัดเก็บรายงานการประชุมให้ครบถ้วน ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
    4. ในกรณีที่มีการควบรวม ได้มา หรือซื้อกิจการ คณะกรรมการบริษัทควรจัดตั้งหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบความยุติธรรมของมูลค่าการดำเนินงาน และความโปร่งใสในกระบวนการดังกล่าว
    5. พนักงาน รวมทั้งบุคคลในครอบครัวของพนักงานจะต้องแจ้งให้กรรมการผู้จัดการ หรือ ผู้บริหารสายงานทรัพยากรบุคคลทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการใดๆ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อม ที่ขัดแย้งหรืออาจจะเกิดความขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของบริษัท

  • บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการเผยแพร่นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน แก่ กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ โดยเฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องกับรายการที่มีความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน โดยจัดอบรมอย่างสม่ำเสมอ ผ่านช่องทาง เช่น กำหนดให้เป็นหนึ่งในหลักสูตรการปฐมนิเทศ การอบรมสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ ระบบอินทราเน็ต อีเมล์สื่อสารภายใน การปิดประกาศ เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจที่ถูกต้องและสามารถปฏิบัติตามได้
  • บริษัทฯ สื่อสารนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมถึงนโยบายการแจ้งเบาะแส ไปยังผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ทุกภาคส่วน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เวปไซต์บริษัทฯ รายงานประจำปี การประชุมที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ เป็นต้น
  • หากบุคลากรใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันฉบับนี้ สามารถสอบถามผู้บังคับบัญชา เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ หรือหน่วยงาน Compliance

บริษัทฯ ได้กำหนดช่องทางการแจ้งเบาะแส และแนวปฏิบัติในการพิจารณาเบาะแส รวมถึงการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสอย่างเป็นระบบ อย่างโปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมั่นในกระบวนการที่เป็นธรรม ตามนโยบายการแจ้งเบาะแส ( Whistleblowing Policy) ซึ่งมีช่องทางในการแจ้งเบาะแส ดังนี้

อีเมล์ kosol.boardap@gmail.com หรือ whistleblowing@apthai.com
ไปรษณีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
เลขที่ 170/57 อาคารโอเชี่ยนทาวเวอร์1 ชั้น 17 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ คลองเตย กรุงเทพฯ 10110
เว็ปไซต์ www.apthai.com
รายละเอียดเพิ่มเติมศึกษาได้จากประกาศเลขที่ AP-IARM-072/2565

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแจ้งเบาะแส สามารถขอคำแนะนำ หรือปรึกษาจากผู้บังคับบัญชา หรือฝ่ายตรวจสอบภายใน หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล

การคอร์รัปชัน ถือเป็นการกระทำความผิดทางวินัย และมีโทษตามกฎหมาย หากบุคลากรของบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ให้ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฯ และจะได้รับโทษทางวินัยของระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน รวมถึงการได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้

บริษัทฯ กำหนดให้มีการทบทวนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัท พิจารณาและอนุมัติ